วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

เมืองเก่า ตะกั่วป่า

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4100

บังเอิญมาพบ เพื่อหมุนเวลาให้ช้าลง ณ เมืองเก่า ตะกั่วป่า


คอลัมน์ DESTINATION

โดย sunaonne เรื่อง/ภาพ


ถ้าโลกนี้มีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้นมากมาย การทำความรู้จักของเรา

กับเมืองตะกั่วป่า ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงเพราะโปสต์การ์ด 1 ใบ

...

"ชั้นอยากถ่ายรูปรถแบบนั้น" เพื่อนร่วมทางของเราชี้ไปที่รถสองแถวเก่าๆ ที่จอดอยู่ข้างทาง ระหว่างที่เขากำลัง ขับรถเข้าสู่จังหวัดพังงา เราที่งึมงำอยู่ข้างหลังบอกไปว่า เอาไว้ไปถ่ายในตลาดก็ได้ท่าทางจะหาไม่ยากหรอก

ไม่กี่ชั่วโมงให้หลังเราก็พบโปสการ์ดภาพขาวดำที่มีรูปของตึกแถวสไตล์ชิโน-โปรตุกีส พิมพ์ข้างล่างว่า "Takuapa" อ่านอยู่ตั้งนานกว่าจะเก็ตว่า "ตะกั่วป่า" จึงหันไปถามคนขายว่าที่เห็นในนี้อยู่ส่วนไหนของพังงา

เขาเรียกกันว่า "ตลาดเก่า"

ว่าแล้วก็ใจง่าย ออกเดินทางไปตามเส้นทางสายเก่า สู่ตลาดเก่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงาทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแพลนเลย

...

ชื่อตะกั่วป่า รื้อถามความทรงจำว่ารู้จักไหม ค้นข้อมูลไปพบว่ารู้จักจากกล่องของฝากจากเมืองใต้ ในชื่อเต้าส้อ ตะกั่วป่า ซึ่งความบังเอิญมาพบกันครานี้ ทำให้เราได้รู้จักตะกั่วป่ามากขึ้นเยอะ

มีข้อสันนิษฐานว่าตะกั่วป่าเคยเป็นเมืองที่มีความ เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นที่รู้จักของชนหลายเชื้อชาติทั้งจีน อินเดีย อาหรับ ในชื่อ เมืองตะโกลา (Takola) เนื่องจากเป็นเมืองท่าจอดเรือ เป็นศูนย์กลางการค้าขาย และเป็นเส้นทางลัดขนสินค้าข้ามคาบสมุทรมลายูจากฝั่งทะเลอันดามันไปยังอ่าวไทย แต่หลักฐานที่ชัดเจนคือสมัยรัตนโกสินทร์ ตะกั่วป่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สามารถผลิตแร่ดีบุกได้มากที่สุด

ตลาดเก่า ตะกั่วป่าที่เรามาเยือนนี้เดิมเป็นเมืองผลิตแร่ ถูกสร้างและเฟื่องฟูพร้อมๆ กับยุคทำเหมือง (น่าจะเป็นช่วงเดียวที่คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์เดินทางมามหา"ลัยเหมืองแร่ นั่นแหละ) เมื่อเหมืองแร่ถูกปิดไป ความฟู่ฟ่าทั้งหลายจึงหาย ไปด้วย ปัจจุบันศูนย์กลางของเมืองย้ายไปอยู่ริมเส้นทางหลัก ที่ถูกตัดขึ้นใหม่ ส่วนที่นี่ก็คงเอาไว้ซึ่งวิถีของชาวชุมชนยังคงดำเนินไปท่ามกลางสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสที่สีซีดจางตามกาลเวลา

เราแหงนหน้ามองตึกเก่าสองชั้นที่บ้างยังใช้หลังคามุงกระเบื้องแบบจีน ผนังที่เต็มไปด้วยรอยคราบของสายฝน เมืองใต้ ชวนให้รู้สึกเหมือนเข้าสู่โลกอีกแห่ง เหมือนกำลัง turn back time สู่เมื่อครั้งกิจการเหมืองแร่ยังรุ่งเรือง เห็นอากง-อาม่า นั่งทอดหุ่ยยามบ่าย ร้านตัดผมแบบเก่าๆ เปิดทำการเป็นปกติ ข้างกำแพงมีป้ายประกาศข่าวงานศพของผู้คนในท้องถิ่นอันเป็นธรรมเนียมของที่นี่ บางห้องแถวถูกปล่อยร้าง บางตึกทาสีใหม่เอี่ยม บ้างบอก พ.ศ.ที่สร้าง ยืนยันอายุว่ามากกว่า 50 ปี

ณ ตลาดเก่าแห่งนี้ ในช่วงไฮซีซั่น (ระหว่างเดือนธันวาคม-เมษายน) ชาวชุมชนตลาดใหญ่ ตะกั่วป่าได้จัดถนนสายวัฒนธรรมขึ้นทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่บ่ายสอง-หนึ่งทุ่ม บนถนน ศรีตะกั่วป่ามีกิจกรรมการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น การนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาจัดแสดง แผงอาหาร-ขนมพื้นเมือง ซึ่งชุมชนตลาดใหญ่เป็นผู้เริ่มจัดทำขึ้นจากงบเอสเอ็มแอล โดยเริ่มเปิดถนนตลาดเก่าตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นสร้างสีสันที่ดีให้กับเมืองเก่าสีจางๆ แห่งนี้ เพื่อกลับฟื้นชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้ง

บนถนนวัฒนธรรมตลาดเก่าสายสั้นๆ เราใช้เวลาชื่นชมอย่างเชื่องช้าแช่มช้อย มัวแต่ชิม ชม ช็อปกันจนเพลิน ด้วยตัวเมืองขนาดเล็กที่เดินไปมาได้พอเหนื่อยนิดหน่อย พลางชิมขนมท้องถิ่นกันเรื่อยๆ เริ่มกันเบาๆ ที่ขนมจีนนคร อยู่ตรงข้ามกับศาลเจ้ากวนอู น้ำขนมจีนใสแต่รสจัดจ้าน พร้อมเครื่องเคียงเป็นสารพัดผักมีให้เลือกแบบคุ้นเคยทั้งผักบุ้งลวก ถั่วงอก ถั่วฝักยาว แตงกวา ฯลฯ แต่ที่เด็ดกว่ามีแกงกะทิใส่ผักกูดและขนุนรสชาติหอมมัน พอเอามากินกับขนมจีนน้ำรสจัดช่วยบาลานซ์ความเผ็ดได้ดี หรือเป็นทอดมันใส่มะพร้าวขูด รสหวานมันเผ็ดนิดๆ มีทั้งขนมเบื้องโบราณแป้งบางแห้ง ไส้หวานจะทาน้ำตาลเคี่ยว โรยมะพร้าว และถั่วแดง เดินต่ออีกนิดมีข้าวเหนียวปิ้งให้ทาน ชิ้นเล็กๆ กินคนเดียวไม่สาหัส อีกอันเป็นข้าวเหนียวหมูห่อใบตองเป็นทรงคล้ายๆ บ๊ะจ่าง รสชาติหวานหอม ประมาณว่ากะกินให้อิ่มกันถึงพรุ่งนี้กัน ทีเดียว

หลังจากอิ่มหมีพีมันกันแล้ว โปสการ์ดก็นำทางพาเราไปยัง "ตึกขุนอินทร์" ตึกทรงชิโนโปรตุกีสประยุกต์สร้างขึ้นโดยช่างฝีมือชาวจีนเมื่อปี 2460 อดีตเคยเป็นบ้านพักของ ร.อ.ท.ขุนอินทรคีรี (ช้อย ณ นคร) หลานของพระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) ผู้สำเร็จราชการและนายอำเภอเมืองตะกั่วป่าเมื่อครั้งนั้น (พ.ศ.2464-2469) ตึกหลังนี้อยู่ในการดูแลของตระกูล ณ นคร แม้จะซีดจางและมีร่องรอยทรุดโทรมไปบ้างตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงตั้งตระหง่านต้อนรับ ผู้มาเยือนด้วยท่าทางที่สุขุม

เวลาในตลาดใหญ่ตะกั่วป่าหมุนช้าเหมือนจังหวะการเดินชมเมืองของพวกเรา สิ่งประทับใจไม่ใช่เพียงเพราะความสดของสถานที่ แต่ไมตรีของคนที่นี่ยังเต็มเปี่ยมที่พร้อมจะต้อนรับนักท่องเที่ยวเสมอ

เพราะประทับใจกับเมืองเก่าแห่งนี้เหลือหลาย จนเราสัญญากับตัวเองว่า แล้วจะมาเยือนอีกครั้ง มาด้วยความตั้งใจ ไม่ใช่แค่ความบังเอิญ :D (หน้าพิเศษ D-Life)


หน้า 18

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02dlf17270452&day=2009-04-27&sectionid=0225
 


Windows Live™ SkyDrive™: Get 25 GB of free online storage. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น: