นายสมคิด ด้วงเงิน ในฐานะประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบระดับชาติ ส่งจดหมาย 'ข้อเสนอเพื่อสร้างหลักประกันสำหรับแรงงานนอกระบบในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ' ถึงนายกรัฐมนตรี เสนอแก้กฎหมายกฎหมายประกันสังคม ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนโดยสมัครใจ โดยเนื้อหาในจดหมายระบุรายละเอียดว่า... เครือข่ายแรงงานนอกระบบระดับชาติ ประกอบด้วยกลุ่ม ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เกษตรกรพันธสัญญาและแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร พนักงานในสถานบริการ กลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้าง กลุ่มแรงงานคุ้ยขยะและซาเล้ง หาบเร่แผงลอย และกลุ่มขับรถแท็กซี่ ซึ่งทำงานเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวในลักษณะแตกต่างกันโดยไม่มีนายจ้างหรือมีนายจ้าง ซึ่งถูกยกเว้นไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายประกันสังคมของรัฐบาล ทำให้ขาดหลักประกันรายได้ทั้งขณะทำงานและเมื่อพ้นวัยทำงานเข้าสู่วัยชรา แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายการขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แต่ยังไม่มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของแรงงานนอกระบบโดยรวม นอกจากนี้แรงงานนอกระบบไม่ได้รับความเป็นธรรมจากมาตรการการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดสรรเงินงบประมาณสมทบให้แก่แรงงานที่มีสถานะเป็นลูกจ้าง ผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมซึ่งไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั้งที่เสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและสอดคล้องกับมาตรา 44 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ เครือข่ายแรงงานนอกระบบมีข้อเสนอต่อนโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐบาลดังนี้ 1. เร่งพัฒนามาตรา ๔๐ และพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องแห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ตามมติของคณะอนุกรรมการพัฒนามาตรา ๔๐ฯ ด่วนที่สุดพร้อมกับเร่งผลักดันร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาเห็นชอบ ในการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไขนี้ ที่มีสาระในมาตรา ๔๐ ว่า …ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน..." 2. ให้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ดังนี้ คือ การจ่ายสมทบปีละ 3,360 บาทต่อปีหรือ 280 บาทต่อเดือน โดยได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองเพิ่มเป็น 5 ประการ คือ 1) กรณีเจ็บป่วย Ä ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วย (เฉพาะผู้ป่วยใน) ครั้งละ 1,000 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน Ä บริการทางการแพทย์ บริการคลอดบุตรและทันตกรรมยังคงใช้สิทธิโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเหมือนเดิม 2) กรณีทุพพลภาพ ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนรายเดือน เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 36 เดือน (3 ปี) 3) กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์การคลอดบุตร 3,000 บาท คนละ 1 ครั้ง โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 9 เดือน 4) กรณีเสียชีวิต ทายาทผู้ประกันตนจะได้รับค่าทำศพเหมาจ่ายเป็นเงิน 30,000 บาท โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน 5) กรณีชราภาพ กองทุนประกันสังคมจะกันวงเงินปีละ 1,855 บาท (จากเงินสมทบปีละ 3,360 บาท) เก็บสะสมไว้เป็นเงินออมเพื่อผู้ประกันตนจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จ (เงินก้อนครั้งเดียว) เมื่อมีอายุครบ 55 ปี (หมายเหตุ สิทธิประโยชน์ที่กำหนดตามมาตรา 40 (ใหม่) อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับการปรับปรุงกฎหมายของคณะกรรมการประกันสังคมและสำนักงานประกันสังคม) 3. เสนอให้รัฐบาลประเดิมจ่ายเงินจำนวน 2,000 บาทสำหรับปีแรกและร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแรงงานนอกระบบตามอัตรากำหนดที่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายในปีต่อ ๆ ไปเพื่อความเสมอภาคและความเป็นธรรมเช่นเดียวกับที่แรงงานในระบบที่รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบและมีมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและช่วยเหลือค่าครองชีพแก่แรงงานในระบบ หากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะร่วมกันสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบจำนวนกว่า 24 ล้านคนอย่างจริงจังต่อเนื่อง เครือข่ายแรงงานนอกระบบขอเรียกร้องให้ รัฐบาลโปรดดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป http://www.prachatai.com/05web/th/home/16589 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น