วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2551

'สานเสวนา' เพื่อหาทาง ออกจากวิกฤติประเทศวันนี้

กาแฟดำ
25 ตุลาคม พ.ศ. 2551 05:00:00
'สานเสวนา' เพื่อหาทาง ออกจากวิกฤติประเทศวันนี้
ใครเสนอทางออกเพื่อผ่าทางตันของประเทศวันนี้ด้วยวิธีการสันติ ย่อมต้องถือว่าเป็น "ทางเลือก" เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดในสังคมไทยที่ยิ่งนานวันดูเหมือนจะยิ่งสร้างความน่าประหวั่นพรั่นพรึงยิ่งนัก
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : การประชุมใหญ่ของ "เครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม" วันพรุ่งนี้ ต้องถือว่าเป็นความพยายามที่น่าชื่นชมของผู้คนหลายฝ่ายที่ต้องการจะหาทางออกจากวิกฤติสังคมวันนี้อย่างเป็นรูปธรรม
เป้าหมายก็คือ การรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงแสวงสันติด้วยการ "สานเสวนา" และลงนามในปฏิญญาร่วม
เขาเชิญชวนองค์กรทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน หรือ ภาคประชาสังคม ให้มาร่วมกันป้องกันไม่ให้ประเทศชาติของเราจมดิ่งลงไปสู่ก้นเหวแห่งความหายนะ เพราะท่าทีของการเผชิญหน้าของฝ่ายต่างๆ ที่ประกาศจะห้ำหั่นให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องจนมุมจนถึงที่สุด
เขาย้ำว่าการรณรงค์ครั้งนี้จะ "ไม่ประณามใคร, ไม่กล่าวหาใคร"
ผู้จัดงานบอกว่าเขาจะมี "ทีมประสานงาน" กับทุกฝ่ายที่อยู่ในภาวะของการเผชิญหน้ากันขณะนี้ นั่นคือ ทีมประสานงานกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, ทีมประสานงานกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และทีมประสานงานกับรัฐบาลเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน
พูดจาประสาชาวบ้านก็คือว่า ผู้คนในบ้านเมืองที่เป็น "พลังเงียบ" มาช้านานท่ามกลางความขัดแย้งที่บานปลายกลายเป็นความรุนแรงนั้น ประกาศว่าจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
ต้องออกมาแสดงจุดยืนให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในภาวะขัดแย้งนี้ให้เห็นว่า พวกเขาไม่มีสิทธิที่จะนำพาประเทศให้เข้าสู่กลียุค เพียงเพราะพวกเขาต้องการจะเอาชนะคะคานกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่สนใจว่าพวกเขาได้ลากถูบ้านเมืองให้ตกลงไปในหลุมดำแห่งมิคสัญญี
เพราะบ้านเมืองเป็นของพวกเราทุกคน, มิใช่เฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างที่พวกเขาอาจจะหลงเข้าใจผิดมาตลอด
ผมดีใจที่เห็นองค์กรสื่อทั้งหมดได้เข้าร่วมในการรณรงค์ครั้งนี้ เพื่อแสดงจุดยืนว่า คนทำหน้าที่สื่อสารมวลชนนั้นไม่ได้ต้องการ "ยั่วยุ" หรือ "ส่งเสริมความรุนแรง" หรือ "ขายข่าว" อย่างที่คนบางกลุ่มวิพากษ์และกล่าวหา
สื่อย่อมต้องสำนึกในบทบาทหน้าที่ของตนในยามสังคมแตกกระสานซ่านเซ็นและทุกฝ่ายในความขัดแย้งนั้น ต้องการจะดึงสื่อเข้ามาเป็นพวก, หรือไม่ก็ "กดดัน" หรือ "ใช้" สื่อให้สะท้อนแต่เพียงแนวทางของตนเอง
แน่นอนว่าในภาวะที่ข่าวความขัดแย้งขยับตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง, การรายงานข่าวโดยเฉพาะสื่อทีวีอาจจะถูกมองจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าโอนเอียงไปอีกฝ่ายหนึ่ง, แต่สื่อมืออาชีพที่รับผิดชอบต่อสาธารณชนนั้นย่อมจะสำนึกว่าสาธารณชนคาดหวังในการทำงานอย่างตรงไปตรงมา และหลีกเลี่ยงการเสนอข่าวที่ยั่วยุหรือนำร่องไปทางใดทางหนึ่ง
สาระแห่งข่าวสารที่สื่อในยามบ้านเมืองไม่ปกติเช่นนี้คือ ความพยายามที่จะร่วมกันหาทางออกด้วยวิธีการสันติ, ยึดหลักอหิงสา, เคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความเห็นที่แตกต่าง
คำว่า "สานเสวนา" ให้ความหมายในทางบวกที่น่าสนใจยิ่ง ผมเข้าใจว่ามาจากคำว่า "dialogue" ของฝรั่งที่หมายถึงการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ทุกฝ่ายพร้อมที่จะฟังความเห็นที่แตกต่างของกันและกัน
ต่างจากคำว่า "debate" ซึ่งตีความได้ว่าเป็นการ "โต้วาที" อันหมายถึงการจะต้องมีฝ่ายชนะหรือฝ่ายแพ้...หรือการใช้วาทะและเหตุผลแห่งตนเพื่อน้าวโน้มให้คนฟัง, คนอ่านและคนดูโอนเอียงมาหาตน
ในภาวะบ้านเมืองปกติและอารมณ์ของผู้คนพร้อมจะใช้วิจารณญาณอย่างรอบด้านนั้น, debate กับ dialogue อาจจะไปพร้อมกันได้เพราะคนฟังอาจสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือข้อมูล, อะไรคือความเห็น และอะไรคือการวิเคราะห์
แต่ในสภาพการเผชิญหน้า ที่ "ไม่มีใครฟังใคร" เช่นที่เห็นอยู่ทุกวันนี้, การใช้ dialogue เพื่อ "สาน" ความเข้าใจระหว่างคนที่ยืนอยู่คนละข้างโดยมีคนกลางที่พร้อมจะ "ประสาน" กับทุกฝ่ายและฟังความเห็นรอบด้าน, จึงน่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า
ใครสนใจไปร่วม "สานเสวนา" ครั้งสำคัญนี้ได้พรุ่งนี้เริ่มเวลาบ่ายโมงตรงถึงห้าโมงครึ่ง ที่หอประชุมใหญ่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม 6
ทำใจให้โปร่ง เปิดสมองให้กว้าง และแทนที่จะถามว่า "ใครจะชนะใครจะแพ้" ควรจะตั้งคำถามใหม่ว่า
"บ้านเมืองจะรอดจากวิกฤติแห่งการเผชิญหน้าครั้งนี้ โดยไม่ให้เสียเลือดเนื้อมากกว่านี้ไปได้อย่างไร?"
(เข้ามาร่วมเกาะติดสถานการณ์และความเห็นหลากหลายได้ที่ www.suthichaiyoon.com ตลอด 24 ชั่วโมง)
From: http://www.bangkokbiznews.com/2008/10/25/news_306216.php

ไม่มีความคิดเห็น: