| ||
ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ กรมทางหลวงชนบท ได้ทำเรื่องหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นที่กรมทางหลวงชนบท ต้องการนำที่ดิน บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน (สะพานสาทร) ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมทางหลวงชนบท ไปจัดหาประโยชน์เชิงธุรกิจ กรมทางหลวงชนบทอ้างว่า ในแต่ละวันมีประชาชนสัญจรผ่านบริเวณใต้สะพานสาทร เพื่อขึ้นและลงเรือเป็นจำนวนมากเป็นเหตุให้มีผู้เข้ามาจำหน่ายสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการผลักดันหรือบางรายก็ได้มีการดำเนินคดี อย่างไรก็ตามยังมีบุคคล สมาคม หรือนิติบุคคลมายื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตเข้าไปประกอบกิจการค้าและการให้บริการประชาสัมพันธ์ในเรื่องต่างๆ โดยตลอด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การให้บริการแก่ผู้ใช้ทาง แต่กรมทางหลวงชนบทไม่สามารถอนุญาตให้มีการจำหน่ายสินค้าและบริการในเขตทางหลวงได้เพราะขัดกับวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดิน กรมทางหลวงชนบท จึงขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า กรมทางหลวงชนบทจะสามารถนำพื้นที่ว่างบริเวณใต้สะพานสาทรมาจัดให้เป็นที่พักริมทางตามนัยมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ได้หรือไม่ เพราะหากสามารถจัดให้เป็นที่พักริมทางได้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทางและผู้ประกอบการที่จะเข้าไปให้บริการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งจะมีรายได้เข้าคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินอีกด้วย ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยว่า การจัดทำที่พักริมทางมีรูปแบบการดำเนินการในลักษณะที่มีการจัดหาประโยชน์ในเชิงธุรกิจถือว่าเป็นกรณีที่นำเอาที่ดินจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพราะการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินโดยการใช้กฎหมายพิเศษ การใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวจึงต้องเป็นไป เพื่อประโยชน์สาธารณะ การนำพื้นที่บริเวณใต้สะพานสาทร มาจัดทำที่พักริมทางโดยมีการจัดหาประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ย่อมไม่อาจกระทำได้ http://www.matichon.co.th/prachachat/news_title.php?id=10200 |
Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น