วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

“การลดอาการปวดหลังปวดคอโดยการฉีดยาสเตรียรอยด์และยาชา”

http://www.banmuang.co.th/bkk.asp?id=164811

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552

คอลัมน์ : ชีวิตและสุขภาพ : “การลดอาการปวดหลังปวดคอโดยการฉีดยาสเตรียรอยด์และยาชา”

“การลดอาการปวดหลังปวดคอโดยการฉีดยาสเตรียรอยด์และยาชา”

การรักษาอาการปวดหลังโดยการฉีดยาสเตรียรอยด์ เป็นทางเลือกในการรักษาอาการปวดหลังหรือปวดขา ที่มีสาเหตุจากหลังโดยจะฉีดยาชาและยาสเตรียรอยด์เข้าไปบริเวณเส้นประสาทที่มีการอักเสบหรือบวม ที่มีสาเหตุจากกระดูกสันหลังเสื่อม และมีการกดทับเส้นประสาท หรือเนื่องจากการแตกของหมอนรองกระดูกทำให้มีการอักเสบของเส้นประสาทในบริเวณดังกล่าว ยาชาจะช่วยลดอาการปวดในเบื้องต้น และยาสเตรียรอยด์จะช่วยลดอาการบวมและอาการอักเสบ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดหรือชาได้นานเป็นสัปดาห์ ถึงหลายเดือน อย่างไรก็ตาม อาการปวดสามารถกลับเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากเกิดการอักเสบซ้ำ แต่สามารถรับการฉีดยาซ้ำได้ เมื่อมีอาการมากขึ้น การรักษาโดยการฉีดยานี้จึงเป็นเพียงการรักษาบรรเทาอาการปวดชั่วคราวเท่านั้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรม และใช้ชีวิตประจำวัน ได้โดยไม่ทุกข์ทรมาน

ในบางกรณีที่สาเหตุของอาการปวดหลังเกิดจาก ข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ (Zygapophyseal or facet joint arthritis) ซึ่งมักทำให้เกิดอาการปวดหลังคล้ายกับที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาท หรือจากหมอนรองกระดูกแตก การรักษาสามารถทำได้ โดยการฉีดยาวินิจฉัย โดยการฉีดยาชาที่เส้นประสาทที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุของอาการปวด ถ้าอาการปวดไม่ทุเลา ควรจะต้องหาสาเหตุอื่นร่วมด้วย ถ้าอาการปวดลดลงจะสามารถบอกถึงสาเหตุของอาการปวดที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่จำเพาะและถูกต้องมากขึ้น เช่น การสกัดเส้นประสาทโดยคลื่นวิทยุ หรือการผ่าตัดแบบต่างๆ

การฉีดยาเพื่อรักษาอาการปวดหลังนี้ ทำได้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือในรายที่ไม่ต้องการผ่าตัด และรักษาด้วยยาแก้ปวดแล้วไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ข้อห้ามของการฉีดยา ได้แก่ แพ้ยาชา หรือสเตรียรอยด์ หรือผู้ป่วยที่รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดเป็นต้น สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง หลังจากที่แพทย์ได้ตรวจร่างกายและซักประวัติแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำผู้ป่วยไปฉีดยาในห้องผ่าตัด โดยให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ และเอกซเรย์ ตรวจสอบตำแหน่งที่คาดว่าเป็นสาเหตุของอาการปวด เมื่อได้ตำแหน่งที่ชัดเจนแล้วแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปยังตำแหน่งดังกล่าว และฉีดสารทึบแสงเพื่อตรวจสอบตำแหน่งก่อนจะฉีดยาสเตรียรอยด์ และยาชา เพื่อลดอาการปวด และการอักเสบที่เป็นสาเหตุของอาการปวดดังกล่าว

ขณะทำการฉีดยา ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดเวลาและสามารถพูดคุยกับแพทย์ผู้รักษาได้เมื่อมีอาการผิดปกติ หลังจากฉีดยา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที ผู้ป่วยจะต้องนอนพักในห้องสังเกตอาการ อีกประมาณ 30-60 นาที จนกว่าอาการคงที่จึงสามารถกลับบ้านได้ หลังจากฉีดยาผู้ป่วยสามารถเดินได้เอง รับประทานอาหาร อาบน้ำได้ตามปกติ แต่ไม่ควรแช่น้ำใน 24 ชั่วโมงแรกหลังฉีดยา ผู้ป่วยควรนำญาติมาด้วยเสมอเมื่อเข้ารับการฉีดยานี้

อาการข้างเคียงที่อาจพบได้หลังฉีดยา คือเจ็บบริเวณรอยเข็ม ในรายที่ได้รับยาสเตรียรอยด์ ผู้ป่วยมักจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควรแจ้งแพทย์ที่ดูแลด้วยเสมอ นอกจากนี้อาจพบอาการปวดศีรษะ ร้อนวูบวาบ หน้าแดง นอนไม่หลับ น้ำหนักเพิ่ม บวม ซึ่งพบได้ไม่บ่อย และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ การติดเชื้อ เยื่อหุ้มไขสันหลังทะลุ เลือดออกในชั้นเหนือเยื่อหุ้มไขสันหลัง เส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น

หลังจากรับการรักษาโดยการฉีดยาแล้ว แพทย์จะนัดดูอาการในอีก 7-10 วันต่อมา กรณีที่มีการตอบสนองดีต่อการฉีดยา แพทย์จะนัดฉีดยาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ผลระงับปวดอยู่นานขึ้น โดยทั่วไปการฉีดยานี้จะสามารถระงับปวดได้นานเป็นสัปดาห์ ถึงหลายเดือน สำหรับการฉีดยาสเตรียรอยด์ มักจะฉีดไม่เกิน 3 ครั้งใน 6 เดือน เนื่องจากยาสามารถลดอาการปวดได้นานถึง 6-8 เดือน อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ผู้เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ข้อมูลจาก ศูนย์ระบบประสาทไขสันหลัง (Spine Center) โรงพยาบาลพญาไท

ไม่มีความคิดเห็น: